คันตามซอกพับ…สัญญาณเตือนของการติดเชื้อรา

คันตามซอกพับสัญญาณเตือนของการติดเชื้อรา

                                                                                                           

                                                                                                                                 ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน

                                                                                                   แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง

                                                                                           คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

                อาการคันตามซอกพับ เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ซอกพับขา ซอกนิ้วมือ ซอกนิ้วเท้า เป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้บ่อย อาการดังกล่าวเกิดได้จากสาเหตุหลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่ การติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อรา และโรคผิวหนังอักเสบรวมทั้งสะเก็ดเงินชนิดที่ขึ้นตามซอกพับ

                การติดเชื้อราตามซอกพับ

                การติดเชื้อราตามซอกพับ อาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ การติดเชื้อกลาก (Dermatophytosis) และการติดเชื้อยีสต์ (Candidiasis) ทั้งสองกรณีจะมาด้วยอาการผื่นแดงคัน แตกต่างกันที่ลักษณะของผื่น การติดเชื้อกลากจะพบผื่นลักษณะปื้นแดง มีขุย ขอบชัดเป็นวง (Active border) ในขณะที่การติดเชื้อยีสต์จะพบผื่นแดงเข้ม แฉะ และมีตุ่มรอบๆ การติดเชื้อทั้งสองชนิดนี้จะพบได้บ่อยในผู้ที่เหงื่อออกมากบริเวณซอกพับ คนอ้วน ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และผู้ที่มีซอกพับเปียกน้ำบ่อยเช่นผู้ที่เท้าย่ำน้ำ สามารถทำการวินิจฉัยได้จากลักษณะของผื่น รวมทั้งการตรวจเชื้อจากบริเวณผื่นผิวหนัง

                อย่างไรก็ตามยังมีโรคผิวหนังบางชนิดที่มักเป็นตามซอกพับ เช่นโรคผิวหนังอักเสบ โดยจะมีอาการผื่นแดงคัน เป็นๆหายๆ มักเป็นที่ซอกพับหลายตำแหน่งและเป็นสองข้างของร่างกายซึ่งต่างจากผื่นติดเชื้อราที่มักเป็นเพียงตำแหน่งเดียว อย่างไรก็ตามหากการติดเชื้อราเป็นมากอาจเป็นหลายตำแหน่งได้ นอกจากนี้โรคผิวหนังอักเสบตามซอกพับบางชนิดหากปล่อยไว้นาน อาจมีการติดเชื้อราซ้ำซ้อนได้

                การรักษาอาการคันตามซอกพับ

                การรักษาอาการคันตามซอกพับขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ สามารถใช้ยาลดการอักเสบได้ สำหรับการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ควรใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ยาที่นิยมใช้ได้แก่ยากลุ่ม Imidazoles เช่น Clotrimazole, Miconazole, Econazole, Ketoconazole,Fluconazole และ Itraconazole เนื่องจากมีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อราได้หลายชนิดรวมทั้งเชื้อกลากและเชื้อยีสต์

                ยาต้านเชื้อราชนิดที่ใช้ภายนอกมีหลายรูปแบบเช่น ชนิดครีม ชนิดฟอก ชนิดแป้งโรย การเลือกใช้ยาชนิดใดขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น ยาชนิดครีมสามารถใช้ได้กับผิวหนังทุกส่วน ชนิดฟอกจะเหมาะกับรอยโรคบนหนังศีรษะหรือบริเวณที่มีขนมาก หากเป็นการติดเชื้อราตามซอกพับ เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ ง่ามมือ ง่ามเท้า  อาจใช้ชนิดแป้งโรย เนื่องจากยาชนิดแป้งโรยมีคุณสมบัติดูดซับความชื้นที่ผิวหนังทำให้ผิวหนังบริเวณที่ใช้แห้งและลดปัจจัยเสริมของการเจริญของเชื้อราได้แก่ ความชื้น การใช้ยาต้านเชื้อราชนิดภายนอกควรใช้อย่างต่อเนื่องหลังจากผื่นหายแล้ว 2 สัปดาห์

                การเลือกใช้ยาต้านเชื้อราชนิดที่ใช้ภายนอกหรือชนิดรับประทานขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นและขนาดของผื่น หากผื่นขนาดเล็กหรือเป็นไม่มาก สามารถใช้ยาชนิดภายนอกได้ หากผื่นเป็นบริเวณกว้างหรือหลายตำแหน่ง เป็นบริเวณเส้นผม ขน และเล็บ ควรใช้ยาชนิดรับประทานร่วมด้วย

                การป้องกัน

                การติดเชื้อราที่ซอกพับสามารถกลับเป็นซ้ำได้ โดยเฉพาะในผู้ที่อ้วนและเหงื่อออกมาก  ดังนั้นการดูแลผิวหนังบริเวณซอกพับให้แห้งและสะอาดจะช่วยลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำได้ ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าและกางเกงที่รัดแน่นเกินไป รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการสวมถุงเท้าและรองเท้าที่อับชื้น นอกจากนี้การใช้ยาต้านเชื้อราชนิดแป้งโรยบริเวณซอกพับ เช่น รักแร้ ขาหนีบ ใต้ราวนม ง่ามเท้า เป็นประจำจะช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้

                สรุป

                อาการคันตามซอกพับอาจเป็นได้ทั้งผิวหนังอักเสบและการติดเชื้อรา หากเป็นผิวหนังอักเสบควรใช้ยาลดการอักเสบของผิวหนัง หากเป็นเชื้อราและเป็นไม่มากอาจใช้ยาทาภายนอก เช่นยาต้านเชื้อราชนิดครีมหรือชนิดแป้งโรย นอกจากนี้ยาต้านเชื้อราชนิดแป้งโรย ยังสามารถใช้ป้องกันการกลับเป็นซ้ำโดยเฉพาะผู้ที่มีซอกพับเปียกชื้นได้ง่าย เช่น เหงื่อออกมากบริเวณซอกพับ คนอ้วน เป็นต้น

21 สิงหาคม 2562

ผู้ชม 108830 ครั้ง

Engine by shopup.com